วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปลูกมะนาวต้นคู่

ปลูกมะนาวต้นคู่

สำหรับพื้นที่ จำนวน 20 ไร่ ของคุณประวิทย์ เจ้าตัวกล่าวว่า ใช้ปลูกมะนาวต้นคู่ทั้งหมด โดยพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์แป้นพวง เพราะเปลือกบางให้น้ำปริมาณมาก ขายได้ราคาดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ในส่วนของกิ่งพันธุ์ ซื้อมาจากตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก ราคากิ่งละ 25-30 บาท กิ่งพันธุ์ที่ใช้มีอายุ 45 วัน 1 ไร่ จะใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ 1,000 กิ่ง

รายละเอียดพื้นที่ปลูก เจ้าของสวนบอกว่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสวนแบบยกร่อง จึงใช้ระยะปลูกมะนาว 4x4 เมตร ขนาดหลุมกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ปลูกในดินได้ทุกชนิด อาทิ ดินเหนียว ดินทราย ดินปนทราย แม้กระทั่งดินลูกรัง บริเวณก้นหลุมรองด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ส่วนวิธีปลูก นำกิ่งพันธุ์จำนวน 2 กิ่ง ลงปลูกในหลุมเดียวกัน ลักษณะลำต้นไขว้กัน หรือวางติดกัน จากนั้นกลบดินบริเวณโคนต้นให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งล้มหรือกิ่งฉีกหัก นำไม้มาปักพร้อมกับผูกเชือก ตลอดจนถ้าบริเวณโคนต้นแดดแรง ให้ใช้หญ้าแห้ง ฟางข้าว มาพรางแสงแดด ทั้งนี้ เพื่อรักษาความชื้น

เผยทุกเคล็ดลับ เข้าใจง่าย

ส่วนของการใส่ปุ๋ยและการให้อาหาร ในสัปดาห์แรก คุณประวิทย์ จะให้น้ำวันละครั้ง จากนั้นจะให้วันเว้นวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้ จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ 1 สัปดาห์ สูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกง ต่อหลุม ถัดจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 หลุมละ 1 ช้อนแกง

เมื่อต้นมะนาวอายุ 3 เดือน เจ้าของสวนจะใส่ปุ๋ย สูตร 15 -15-15 หลุมละ 1 กำมือ ใส่เดือนละครั้ง ไปจนกระทั่งมะนาวอายุได้ 5 เดือน นอกจากนี้ บำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ไร่ละ 1 ตัน ปีละ 2 ครั้ง หลังจากมะนาวเริ่มติดผล ปรับไปใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หลุมละ 3 กำมือ ต่อครั้ง ซึ่งมะนาวต้นคู่จะให้ผลผลิตเร็ว และมีปริมาณสูงกว่าต้นเดี่ยวถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นไม่โทรม แถมปุ๋ยที่ใช้ก็มีปริมาณเท่ากับต้นเดี่ยว มีเพียงต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าคุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้รับ

ทราบถึงกระบวนการปลูก ถามเจ้าของสวนถึงศัตรูพืชดังกล่าว ได้ข้อมูลว่า ศัตรูมะนาวที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ล้วนทำให้ผลผลิตลดลงถึงขั้นกิ่งและต้นแห้งตายไปในที่สุดเลยก็ว่าได้

"หนอนชอนใบ สังเกตได้จากใบจะหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ ใบไม่เจริญเติบโต ต้นมะนาวจะแคระแกร็นไม่ติดผล ส่วนเพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อน หรือตั้งแต่เริ่มติดผล มะนาวที่ถูกทำลายจะปรากฏรอยสีเทา เป็นวงบริเวณขั้วผลและก้นผล สุดท้าย โรคแคงเกอร์ สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วน ทั้ง ใบ กิ่งก้าน และผล ลักษณะอาการ ใบและผลจะเป็นแผล ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น นูนคล้ายฟองน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ส่วนอาการที่กิ่งและก้านจะมีแผลฟูนูนสีน้ำตาล ค่อยๆ ขยายไปรอบๆ กิ่ง เมื่อต้นมะนาวเป็นโรคนี้มาก ต้นจะโทรม ใบร่วง แคระแกร็น ผลผลิตลดลง กิ่งและต้นจะแห้งตายไปในที่สุด"

สำหรับวิธีการป้องกันและจำกัดศัตรูพืช เกษตรกรรายนี้ระบุว่า วิธีแรกหมั่นคอยสำรวจแปลง หากพบกิ่งหรือผลที่ติดโรค ให้ตัดออกแล้วเผาทำลาย แต่กรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ ให้ใช้สารเคมีกำจัด

รับรองคุ้มทุน

มะนาวไทยขายได้ทั้งปี

ด้านของปริมาณผลผลิต มะนาวต้นคู่จะเริ่มให้ผลผลิตภายใน 14-15 เดือน ต่างจากมะนาวทั่วไปที่ให้ผลผลิต 19 เดือน หลังให้ผลผลิต 3-4 ปี สังเกตต้นมะนาวจะมีต้นใดต้นหนึ่งเริ่มโทรม ให้ปลูกต้นเสริมมาแทนที่ จนกว่าต้นเสริมจะแข็งแรงดีให้ตัดต้นที่โทรมออก จะได้ต้นมะนาวที่อยู่ในระยะให้ผลผลิตเต็มที่ตลอดเวลา

"มะนาว จะออกช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พื้นที่ปลูก 20 ไร่ มี 40 กว่าร่อง เก็บผลผลิตช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้ร่องละ 2,500 กิโลกรัม หรือประมาณไร่ละ 5 ตัน ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งเก็บมะนาวได้เฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อเดือน โดยผลผลิตที่เก็บได้ เป็นขนาดจัมโบ้ 40 เปอร์เซ็นต์ ขนาดกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ และขนาดเล็ก 20 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วมะนาวต้นคู่ 1 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 1,500 ลูก ต่อปี หากเป็นมะนาวต้นเดี่ยวจะให้ผลผลิตต้นละ 1,300 ลูก ต่อปี"

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ด้านช่องทางจัดจำหน่าย คุณประวิทย์ บอกว่า จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ ส่วนใหญ่นำไปจำหน่ายต่อที่ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง สำหรับราคามะนาวแต่ละเกรดต่างกัน 70 สตางค์ ซึ่งเบอร์ใหญ่สุดจะขายได้ลูกละ 2.70 บาท

แม้ว่าการปลูกมะนาวแบบต้นคู่จะโตเร็ว แต่ในด้านเงินลงทุนถือว่าค่อนข้างสูง เพราะต้องซื้อกิ่งพันธุ์เพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้ว 1 ไร่ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งเก็บผลผลิต ประมาณ 60,000 บาท

ปลูกมะนาว

พิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล ผู้นำการปลูกมะนาว เขตอำเภอท่ายาง
ปัจจุบัน แหล่งผลิตมะนาวในเชิงพาณิชย์ของไทยจะมีแหล่งผลิตใหญ่ๆ คือ จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น โดยเฉพาะที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นแหล่งผลิตมะนาวดั้งเดิม ในปัจจุบันอำเภอท่ายางนับเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของประเทศที่จะมีการ ซื้อ-ขาย ผลผลิตมะนาวจากทั่วประเทศ ในอดีตเกษตรกรอำเภอท่ายาง จะปลูกมะนาวพันธุ์หนังและพันธุ์ไข่เป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนสายพันธุ์มาปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นชนิด ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แป้นรำไพ แป้นทะวาย แป้นใหญ่ แป้นพวง แป้นดกพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผลผลิตมีเปลือกบาง ปริมาณน้ำมาก และมีกลิ่นหอม จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสตระเวนดูพื้นที่การปลูกมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอ ท่ายาง และอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า ได้มีเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมะนาวกันมากขึ้น คาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกมะนาวในเขตจังหวัดเพชรบุรีจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ในปัจจุบัน

คุณพิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล
อยู่บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 7 ไร่หลวงซอย 9 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 76130 โทร. (087) 428-3386 ปลูกมะนาวในกลุ่มสายพันธุ์แป้น ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ คุณพิทักษ์ได้ประกอบอาชีพชาวสวนมานาน ประมาณ 20 ปี เริ่มจากการปลูกชมพู่เพชรและลิ้นจี่ พันธุ์กะโหลกใบยาว (เป็นพันธุ์ที่นำมาจากบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร บางคนเรียกพันธุ์ลิ้นจี่กรอบ และเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลได้ง่ายในเขตพื้นที่ภาคกลาง) ผลปรากฏว่าการปลูกชมพู่เพชรและลิ้นจี่ไม่ประสบผลสำเร็จ รายได้ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงได้เปลี่ยนพื้นที่มาปลูกมะนาวและประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้



ให้ความสำคัญกับสภาพดินปลูกมากที่สุด

สายพันธุ์มะนาวและแหล่งน้ำรองลงมา


คุณ พิทักษ์ บอกว่า ในการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้นมะนาวจะชอบสภาพดินร่วนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี และที่สำคัญสภาพพื้นที่ปลูกมะนาวของเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย และข้าวโพด มาก่อน ทำให้สภาพดินถูกใช้มานาน ขาดอินทรียวัตถุ ดังนั้น จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุเข้าไป ในสภาพความจริงแล้ว เขตพื้นที่ปลูกมะนาวถูกน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ในปีนี้ (พ.ศ. 2553) คุณพิทักษ์ บอกว่า มีฝนตกมากในช่วงระหว่าง วันที่ 1-4 ตุลาคม 2553 และสภาพพื้นที่การปลูกมะนาวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คุณพิทักษ์ได้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือพื้นที่ปลูกมะนาวในที่สูง ได้รับผลกระทบในเรื่องของการออกดอก คือแทนที่จะออกเป็นดอกกลับออกเป็นใบอ่อนแทน ซึ่งความจริงในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่จะมีการดึงให้มะนาวออก ดอกและติดผลให้ได้ เพื่อผลผลิตจะได้ไปขายในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ระดับกลาง ที่มีน้ำท่วมเพียงเล็กน้อย จะทำให้ต้นมะนาวชะงักการเจริญเติบโตระยะเวลาหนึ่ง ส่วนพื้นที่ระดับล่าง ที่แปลงปลูกมะนาวแช่น้ำนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ถ้าเป็นมะนาวที่ปลูกใหม่จะทำให้ต้นมะนาวตาย แต่ถ้าเป็นต้นที่เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ต้นจะมีอาการเหลืองทั้งต้น จะต้องใช้เวลาในการฟื้นสภาพต้น

นอกจากนั้น คุณพิทักษ์ ซึ่งนับเป็นเกษตรกรหัวสมัยใหม่ของอำเภอท่ายาง นอกจากจะมีการนำสมุนไพรมาใช้ร่วมกับสารเคมีเพื่อใช้ป้องกันและกำจัดแมลง ยังมีการศึกษาปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะตกเฉลี่ยประมาณปีละ 600-700 มิลลิเมตร ถือว่าไม่มากนัก เมื่อปริมาณฝนไม่มาก ปัญหาของโรคโคนเน่าและรากเน่าจะน้อยลงไปด้วย จากการศึกษาของคุณพิทักษ์ บอกว่า จังหวัดเพชรบุรีจะมีฝนตกมาก 2 ช่วง คือเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม ระบบการให้น้ำในช่วงหน้าแล้งจะใช้วิธีการให้น้ำผ่านร่อง จะให้ต้นมะนาวได้รับน้ำอย่างเต็มที่ กรณีพื้นที่ปลูกมะนาวของคุณพิทักษ์จะปลูกเป็นสภาพไร่และไม่มีการยกร่อง ลูกฟูก แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่ขยายพื้นที่ปลูกมะนาวใหม่ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งระบบ น้ำแบบสปริงเกลอร์และพื้นที่เปิดใหม่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้องจะมีการเตรียม แปลงปลูกมะนาวแบบยกร่องแบบลูกฟูก เพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดีเมื่อมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก



เกษตรกรชาวสวนมะนาวเพชรบุรี

ส่วนใหญ่ยังใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอน


จาก ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า การปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอนเกือบ ทั้งหมด ผลปรากฏว่าเมื่อต้นมะนาวมีอายุได้ 4-5 ปี ให้ผลผลิตมาได้เพียง 3-4 ปี ต้นมะนาวจะเริ่มทรุดโทรมเป็นโรคใบเหลืองต้นโทรมหรือที่ภาษาทางโรคพืชเรียก ว่า "โรคทริสเทซ่า" โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผู้ปลูกมะนาวในปัจจุบันจะใช้สายพันธุ์แป้นที่มีความดก เป็นพิเศษ เช่น พันธุ์แป้นดกพิเศษ ถ้าใช้กิ่งตอนปลูกจะส่งผลให้ต้นมะนาวทรุดโทรมได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยความดกของต้นในแต่ละปี ดังนั้น การปลูกมะนาวในอนาคตเกษตรกรควรจะเลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดบนต้นตอส้ม ต่างประเทศ เช่น ต้นตอทรอยเยอร์ สวิงเกิล ฯลฯ ซึ่งมีรากแก้วและค่อนข้างทนทานต่อโรคโคนเน่าและรากเน่า ที่สำคัญรากหาอาหารเก่ง และจะช่วยให้ต้นมะนาวมีอายุยืนยาวนานกว่า 10 ปี อย่างกรณีของแปลงสาธิตการปลูกมะนาวของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้เปลี่ยนยอดมะนาวบนต้นตอส้มน้ำผึ้ง (ส้มน้ำผึ้ง จัดเป็นส้มไม่มีเมล็ด แต่มีรสชาติเปรี้ยวจัด และคนไทยไม่นิยมบริโภค) โดยตัดส้มน้ำผึ้งทิ้งและเสียบยอดมะนาวพันธุ์แป้นรำไพลงบนต้นตอส้มทรอยเยอร์ ผลปรากฏว่าต้นมะนาวมีการเจริญเติบโตเร็วมาก เปลี่ยนยอดไปไม่ถึง 1 ปี เริ่มให้ผลผลิต ปัจจุบัน เข้าปีที่ 2 ของการเปลี่ยนยอดพบว่า การเจริญเติบโตของต้นใหญ่เท่ากับต้นมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอนมีอายุ 5 ปี และที่หลายคนเป็นห่วงและกลัวคือ ผลผลิตมะนาวที่ปลูกบนต้นตอส้มต่างประเทศจะมีรสชาติและคุณภาพเปลี่ยนไปนั้น ปัจจุบันทางชมรมได้ส่งผลผลิตมะนาวแป้นรำไพที่เปลี่ยนยอดบนต้นตอส้มทรอยเยอร์ ผลปรากฏว่า รสชาติและคุณภาพของน้ำเหมือนกับมะนาวแป้นรำไพที่ปลูกด้วยกิ่งตอนทุกประการ ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกมะนาวในอนาคตควรจะเลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดบนต้นตอส้ม ต่างประเทศ จึงได้ต้นที่มีอายุยืนและให้ผลผลิตสูง



สูตรบังคับมะนาวนอกฤดู

ของ คุณพิทักษ์ ศิริกุลพัฒนะผล


ใน การบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดู ของ คุณพิทักษ์ จะเน้นในเรื่องความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก วิธีการสังเกตว่าต้นมะนาวมีความสมบูรณ์ก็คือ มีใบใหญ่ และมีสีเขียวเข้ม ที่สวนมะนาวของคุณพิทักษ์จะมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค เพื่อช่วยในการสะสมอาหาร โดยฉีดพ่นในช่วงใบเพสลาดก่อนที่จะกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอก แต่คุณพิทักษ์ได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับการฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารปราบศัตรูพืชในแต่ละครั้ง โดยผสมน้ำ 200 ลิตร ค่าปุ๋ย ฮอร์โมน และสารปราบศัตรูพืชไม่ควรเกิน 800 บาท ต่อถัง เพราะจะไม่คุ้มต่อการลงทุน สำหรับปัญหาเรื่องโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการปลูกมะนาว และเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นทั้งหลายจะค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค นี้ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงต้นโปร่งมีส่วนช่วยลดปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ได้ บ้าง โรคแคงเกอร์จะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เกษตรกรจะต้องมีการฉีดสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มคอปเปอร์ เช่น ฟังกูราน เป็นต้น

นอกจากไปดูงานการปลูกมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแล้ว ยังได้ไปดูแปลงปลูกมะนาวของ คุณไตรเทพ สิทธิชัย โทร. (084) 094-3168 ที่มีพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง คุณไตรเทพนับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เคยปลูกมะม่วงมาก่อน แต่ประสบปัญหาเรื่องขายผลผลิตมะม่วงไม่ได้ราคา จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมะม่วงมาปลูกมะนาวในกลุ่มของสายพันธุ์แป้น แต่ยังใช้กิ่งพันธุ์ประเภทกิ่งตอนเช่นกัน คุณไตรเทพยอมรับว่าปลูกมะนาวโดยใช้กิ่งตอน ต้นจะมีอายุสั้น ปลูกไปได้ 5-6 ปี ต้นจะเริ่มโทรม ตายไปก็มี จากการเดินสำรวจแปลงปลูกมะนาวของคุณไตรเทพมีการปลูกเป็นสภาพไร่และไม่ได้ยก ร่องแบบลูกฟูก และใช้ระยะปลูกที่ชิดเกินไป คือใช้ระยะปลูก 6x6 เมตร เมื่อต้นมะนาวอายุได้ 5 ปี ทรงพุ่มชนกันแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าและรากเน่า และการฉีดพ่นสารเคมีในแต่ละครั้งจะค่อนข้างยากลำบาก

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คุณไตรเทพสามารถผลิตมะนาวฤดูแล้งขายได้ราคาดีมาก เมื่อช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา คุณไตรเทพขายมะนาวขนาดจัมโบ้จากสวนได้ถึงผลละ 8 บาท หรือแม้แต่ช่วงฤดูฝนเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ยังขายมะนาวขนาดจัมโบ้ได้ถึงผลละ 3-4 บาท ซึ่งในอดีตไม่เคยพบว่ามะนาวจะมีราคาแพงในช่วงฤดูฝน ดังนั้น การผลิตมะนาวในอนาคตของเกษตรกรอาจจะไม่เน้นผลิตให้ออกในช่วงฤดูแล้งเพียง ช่วงเดียว จะเน้นการผลิตให้ออกเกือบตลอดปี และอาจจะไม่ต้องใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดหรือฉีดพ่นให้กับต้นมะนาวด้วยซ้ำไป แต่เน้นการให้ปุ๋ยทางดินและทางใบ เพื่อให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์เป็นหลัก โดยลักษณะของสายพันธุ์มะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้นชนิดต่างๆ สามารถออกดอกและติดผลได้ปีละ 4-5 ครั้ง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะนาวและมีหัวก้าวหน้า ควรจะยึดหลัก "การตลาดนำหน้าการผลิต" จะต้องรวบรวมข้อมูลการผลิตมะนาวของเกษตรกรในแต่ละปีว่าแหล่งผลิตใดมีผลผลิต มะนาวออกสู่ตลาดมากในช่วงเวลาใด เราจะต้องเตรียมบังคับให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลไม่ตรงกัน



จ้างแรงงาน

คิดเป็นชั่วโมงละ 30 บาท


โดย ปกติส่วนใหญ่การจ้างแรงงานภาคเกษตรกรทั่วๆ ไปจะคิดเป็นรายวัน แต่คุณพิทักษ์บอกว่า ในการทำสวนมะนาวของเกษตรกรในเขตอำเภอท่ายางนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสวนขนาดเล็ก เฉลี่ยรายหนึ่งปลูกมะนาวในพื้นที่ 10 ไร่ ก็ถือว่ามากแล้ว และงานในสวนมะนาวจะต้องการความละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน คุณพิทักษ์ได้ตัดสินใจจ้างแรงงานโดยคิดเป็นรายชั่วโมง ได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพทำงานได้ตามเป้าหมาย



มะนาวท่ายาง

เป็นตัวกำหนดราคาซื้อ-ขาย

มะนาวทั่วประเทศ


คุณ พิทักษ์ บอกว่า ผลผลิตมะนาวในเขตพื้นที่อำเภอท่ายางและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จะเป็นตัวกำหนดราคาซื้อ-ขาย มะนาวทั่วประเทศ หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ ว่า ราคามะนาวเพชรบุรีจะมีราคาแพงกว่าที่อื่น ผลผลิตมะนาวท่ายางจะส่งไปขายยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่งไปที่จังหวัดนครราชสีมา และมีการกระจายผลผลิตไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะที่ภาคตะวันออกจะส่งไปขายที่จังหวัดชลบุรี





หนังสือ "การบังคับมะนาวออกฤดูแล้ง" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "ไม้ผลแปลกและหายาก เล่ม 2" รวม 2 เล่ม จำนวน 168 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398